“ดื่มนมวัว” เสี่ยงโรค จริงมั้ย?

“ดื่มนมวัว” เสี่ยงโรค จริงมั้ย?


     การดื่มนมวัวอุดมไปด้วยสารอาหารคุณค่าสูงต่อร่างกายอย่างมาก แต่ก็มีผู้คนที่แพ้นมวัวจำนวนไม่น้อย เกิดอาการแพ้รุนแรง ด้วยเหตุนี้จึงทำให้ผู้คนบางกลุ่มไม่สนับสนุนการดื่มนมวัวและอ้างผลงานวิจัยที่บอกว่าการดื่มนมวัวนั้นเพิ่มความเสี่ยงของการเกิดโรคมะเร็ง

 

อาการแพ้นมวัว

- อาการแพ้นมวัวแตกต่างกับภาวะขาดเอนไซม์ย่อยแล็กโทส ภาวะขาดเอนไซม์ย่อยแล็กโทสนั้นคืออาการแพ้น้ำตาลที่อยู่ในนมวัว ทำให้เกิดอาการปวดท้อง ท้องอืด หรือ ท้องเสียตามมาหลังรับประทานผลิตภัณฑ์จากนมทั้งหลาย แต่อาการแพ้นมวัวนั้นจะส่งผลต่อภูมิคุ้มกันทำให้อาการแพ้รุนแรงกว่าการแพ้น้ำตาลแล็กโทส

 

- ในเด็กอ่อน อาการแพ้นมวัวมีทั้งขั้นเล็กน้อยจนไปถึงขั้นรุนแรง เช่น ปวดท้อง อาเจียน ผื่นคันตามผิวหนัง มีผื่นลมพิษ หายใจเสียงดัง ไอ หายใจลำบาก หน้าบวม ท้องเสียและเลือดออกช่องทวารหนัก ร้องไห้ไม่หยุด อาการเหล่านี้จะดีขึ้นและหายไปต่อเมื่อเด็กหยุกรับประทานนมชนิดนั้น

 

- ในเด็กโต หรือ ผู้ใหญ่ อาการแพ้นมวัวและความรุนแรงของอาการในแต่ละคนอาการจะแตกต่างกัน บางคนจะแพ้ทันทีหลังดื่มนมวัวหรือรับประทานอาหารที่มีส่วนประกอบของนมวัว มักมีลมพิษหายใจดังหรือ อาเจียน แต่บางคนอาจจะรอเวลาแล้วถึงจะแสดงอาการ โดยจะมีอาการอุจจาระเหลว ในบางรายอาจมีเลือดปน ท้องเสีย เป็นตะคริวในช่องท้อง น้ำมูกน้ำตาไหล ไอ จะพบบ่อยบริเวณรอบปาก

 

อันตรายจากการแพ้นมวัว

นมเป็นเครื่องดื่มอันดับที่ 3 ที่ก่อให้เกิดอาการแพ้ถึงขั้นเสียชีวิตได้ โดยอาการแพ้รุนแรงถึงขั้นทำให้ระบบทางเดินหายใจแคบลงจนถึงปิดกั้นการหายใจ หรือ เกิดภาวะช็อกได้เนื่องจากความดันโลหิตต่ำลง ควรสังเกตอาการหลังดื่มนมวัวหรืออาหารที่มีส่วนผสมของนมวัว หากมีอาการแพ้ให้รีบพบแพทย์ทันที

 

สาเหตุของการแพ้นมวัว

อาการแพ้อาหารที่เรารับประทานไปนั้นมักจะเกิดจากการทำงานของระบบภูมิคุ้มกันที่ผิดปกติทั้งสิ้น โดยคิดว่าโปรตีนจากนมเป็นสารอันตรายต่อร่างกาย จึงกระตุ้นการผลิตสารแอนติบอดี้ชนิด Immunoglobulin E (IgE) ขึ้นเพื่อปกป้องร่างกาย เพราะฉะนั้นถ้าร่างกายได้รับโปรตีนชนิดนี้อีก แอนติบอดี้ IgE จะเกิดปฏิกิริยาและส่งสัณญาณให้ระบบภูมิคุ้มกันปล่อยสารฮีสทามีนและสารเคมีอื่น ๆ จนเกิดอาการแพ้ในที่สุด โปรตีนในนมวัวที่ทำให้เกิดอาการแพ้มี 2 ชนิดหลัก ๆ คือ โปรตีนเคซีนที่พบจากนมในส่วนที่เป็นไขมันข้นแข็ง และโปรตีนเวย์ที่พบในส่วนที่เป็นของเหลวหลังจากจับตัวเป็นไข

 

การรักษาอาการแพ้นมวัว

วิธีที่ได้ผลที่สุดในการรักษาอาการแพ้นมวัว คือ เลี่ยงดื่มนมวัวหรือเลี่ยงการรับประทานอาหารที่มีส่วนผสมของนมวัวและผลิตภัณฑ์ที่มีโปรตีนจากนมวัวทุกชนิด ในกรณีที่เผลอรับประทานจนมีอาการแพ้ หากไม่รุนแรงอาจจะบรรเทาอาการได้โดยยาแก้แพ้ เช่น ลอราทาดีน (Loratadine) หรือ เซทิริซีน (Cetirizine) ส่วนผู้ที่มีอาการแพ้รุนแรงในกรณีนี้ผู้ปกครองหรือตัวท่านเองควรพกยาอิพิเนฟรินชนิดฉีดติดตัวไว้ตลอดเวลาเพื่อป้องกันกรณีฉุกเฉินได้ทันที

 

ดื่มนมวัว เสี่ยงโรค?

มีรายงานจากงานวิจัยของต่างประเทศพบว่าผู้ที่ทานอาหารที่มีส่วนประกอบของไขมันสูง มีความเสี่ยงในการเป็นโรคมะเร็งมากกว่าผู้ที่ทานอาหารไขมันต่ำ แต่อันที่จริงแล้วรายงานนี้เป็นรายงานการวิจัยของชาวตะวันตกที่บริโภคอาหารที่มีส่วนผสมของนมมากกว่าชาวตะวันออก เพราะชาวตะวันตกนิยมบริโภคเนย ขนมเบเกอร์รี่ ไอศกรีม ช็อคโกแลต และอาหารส่วนมากของาวตะวันตกจะหนักไปทางไขมันสูง ๆ จึงทำให้ชาวตะวันตกเสี่ยงเป็นโรคมะเร็งจากอาหารไขมันสูงมากกว่าชาวตะวันออก  แต่ยังไม่มีข้อสรุปที่ชัดเจนว่านม หรือ นมวัว เป็นอาหารเพิ่มความเสี่ยงต่อโรคมะเร็ง นอกจากนี้ยังมีผู้คนที่แพ้นมวัว หรือ มีภาวะพร่องเอนไซม์ย่อยแล็กโทส แต่ยังคงฝืนดื่มนมวัวหรือรับประทานอาหารที่มีส่วนประกอบของนมวัวอยู่นั้นจะเป็นการเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดโรคมะเร็งหรือไม่ คำตอบ คือ ยังไม่มีงานวิจัยไหนพิสูจน์ให้เห็นว่าคนที่แพ้นมวัวและดื่มนมวัวเป็นประจำจะเป็นการเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดโรคมะเร็ง แต่มีงานวิจัยที่บ่งชี้ว่า แร่ธาตุแคลเซียมและกรดไขมันจำเป็นที่มีอยู่ในนมวัวนั้นสามารถป้องกันโรคมะเร็งได้ ดังนั้นข้อสรุป คือ ยังไม่มีรายงานใด ๆ ที่ระบุอย่างชัดเจนว่าการดื่มนมวัวหรือรับประทานอาหารที่มีส่วนประกอบของนมวัวนั้นเป็นการเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดโรคมะเร็ง

 

แพ้นมวัว แต่อยากดื่มนมวัว ทำอย่างไร?

- ดื่มในปริมาณน้อย ๆ และเริ่มสังเกตอาการของตัวเองว่าดื่มได้มากน้อยแค่ไหนถึงจะไม่มีอาการและเลือกดื่มในปริมาณนั้นตลอด

 

- ดื่มนมวัวไปพร้อม ๆ กับการทานอาหาร

 

- หากไปพบแพทย์แล้วแน่ใจว่าตนเองขาดเอนไซม์แล็กโทส ควรขอคำปรึกษาจากแพทย์ หรือ เภสัชกร ในการบริโภคยาเม็ดเอนไซม์แล็กโทสเพื่อช่วยย่อยนมวัวได้

 

- เลือกดื่มนมวัวที่สกัดเอาน้ำตาลแล็กโทสออกไป (Lactose – free) ก็จะช่วยให้ดื่มแล้วไม่มีอาการแพ้ได้